บึงกาฬ จัดกิจกรรมพัฒนาผ้า “ลายหมากเบ็ง” และการออกแบบผ้าไทยพื้นเมืองของจังหวัด

บึงกาฬ จัดกิจกรรมพัฒนาผ้า “ลายหมากเบ็ง” และการออกแบบผ้าไทยพื้นเมืองของจังหวัดบึงกาฬ เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่า และเผยแพร่ภูมิปัญญาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.64 ที่ คอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเดอะวัน อ.เมืองฯ จ.บึงกาฬ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ จัดกิจกรรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาลายผ้า (ลายหมากเบ็ง) และออกแบบตัดเย็บผ้าไทยพื้นเมือง จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมผ้าลายหมากเบ็งพื้นเมือง จังหวัดบึงกาฬ เสริมสร้างอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนได้เข้าใจและภาคภูมิใจในคุณค่าและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และของชาติ นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของจังหวัดบึงกาฬให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอีกด้วย โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในพิธี และได้รับเกียรติจากนางแว่นฟ้า ทองศรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ในการบรรยายพิเศษครั้งนี้ด้วย
นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ ถือเป็นจังหวัดที่มีมรดกทางภูมิปัญญาที่หลากหลาย ทั้งทางด้านศิลปะการแสดง ดนตรี วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม รวมถึงมีผ้าพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ และสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดบึงกาฬได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ ผ้ามัดหมี่ลายหมากเบ็ง ซึ่งคนอีสานในแถบลุ่มแม่น้ำโขงนิยมนำหมากเบ็งมาบูชาถวายพระ ในวันพระ หรือวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ดังนั้น การนำลายหมากเบ็งมารังสรรค์เป็นลายผ้าประจำจังหวัด จึงถือว่าเป็นภูมิปัญญาอันยอดเยี่ยม ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากว่ามีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งสามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนกับคนในพื้นที่ต่อไป
สำหรับหมากเบ็ง หรือขันหมากเบ็ง เป็นเครื่องสักการะของวัฒนธรรมล้านช้าง เดิมใช้สำหรับบูชาในพระพุทธศาสนา คงมีมาเป็นพันเป็นร้อยปีแล้วกระมัง เพราะในหลักเสมาสมัยทวารวดีของอีสานก็พบว่ามีลวดลายทำนองกะจังกลีบบายศรีปรากฏอยู่บ้าง หมากเบ็งมีคติมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแก่นสารสารัตถะของคำสอนเรื่อง ขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ นักปราชญ์ชาวลาวล้านช้างทั้งหลายทั้งมวลจึงเอาขันธ์ทั้ง ๕ ในตนประดิษฐ์ถ่ายทอดออกมาเป็นหมากเบ็ง เพื่อน้อมสักการะพระไตรรัตน์ทั้ง ๓ เป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสสอนให้สัตว์ทั้งหลายรู้จักรูปขันธ์ทั้ง 5 และกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้
ปวิณชัย บุญพิเชฐ บึงกาฬ