อุดรธานี-พิษเศรษฐกิจ คนงานตกงาน ปิดโรงน้ำตาลเก่าแก่อายุ 58 ปี จ่ายชดเชยให้คนงาน 610 วัน

เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี เทศบาลตำบลกุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี บ.น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด มีนัดหมายให้พนักงาน ลูกจ้างของบริษัทฯ มารับฟังคำชี้แจงการเลิกกิจการ หลังจากดำเนินกิจการมามากกว่า 58 ปี โดยติดป้ายแบ่งสถานที่ประชุมเป็น 6 จุด คือ ข้างบ้านรับรอง , ทางไปบ้านพัก , ที่จอดรถจักรยานยนต์ , ที่จอดรถยนต์ , ที่จอดรถฝ่ายไร่ และหอประชุมใหญ่ ทุกจุดติดจอภาพขนาดใหญ่ ถ่ายทอดการประชุมไปพร้อมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ , อส. ในเครื่องแบบมาดูแลความสงบ ไปพร้อมกับทีมของโรงงาน “ชายในชุดซาฟารีสีดำ” พนักงาน-ลูกจ้าง รวม 280 คน ทยอยเดินทางเข้ามารวมตัว บริเวณด้านหน้าอาคาร “สหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี” ไม่ยอมแยกไปประชุมตามจุดต่าง ๆ ต้องการประชุมจุดเดียวกัน โรงงานได้ขอให้นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เจรจากับตัวแทนพนักงาน-ลูกจ้าง 5 คน ว่าเป็นมาตรการเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 จนเวลา 09.50 น. พนักงานจึงยอมเข้าประชุมแบบแยกส่วน โดยมีนายฮิเดยูกิ มุราคามิ ประธาน บ.น้ำตาลกุมภวาปี จก. เดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง ขณะสื่อมวลชนได้รับแจ้งให้ออกนอกพื้นที่ของโรงงาน ห้ามถ่ายภาพ


ทั้งนี้ระหว่างการประชุมชี้แจง มีพนักงานถ่ายภาพส่งเอกสาร ส่งออกมาให้คนด้านนอก อาทิ ฉบับแรก ประกาศวันหยุดพิเศษ ระบุเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี พนักงานประจำ 8 มิ.ย.-2 ก.ค.64 พนักงานชั่วคราว 8-12 มิ.ย.64 ที่ยังคงได้รับค่าจ้าง และพนักงานที่ยังคงต้องมาทำงาน ในช่วงวันหยุดพิเศษ บริษัทฯจะจ่ายค่าแรง และค่าล่วงเวลาในวันหยุด , ฉบับที่สอง เป็นจดหมายถึง เกษตรกรชาวไร่อ้อยครอบครัวตราซ้อนที่เคารพรักทุกท่าน ประกาศแจ้งหยุดกิจการ ที่ดำเนินกิจการมาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่ ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

จดหมายระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบาก ดังนั้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่จัดขึ้นเมื่อวานนี้ จึงมีมติตัดสินใจจะหยุดกิจการน้ำตาลหลังจากนี้อย่างเป็นทางการ จากการตัดสินใจครั้งนี้ บริษัทได้ร้องขอบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทน้ำตาลตราช้อนเช่นเดียวกัน ให้รับการโอนย้ายสัญญาซื้อขายอ้อยที่บริษัททำร่วมกับเกษตรกรทุกท่าน ขอให้ทุกท่านโปรดเข้าใจและขอความร่วมมือมา ณ ที่นี้ สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บ.น้ำตาลเกษตรผล จก. จะแจ้งให้เกษตรกรทุก ท่านทราบต่อไป ขอแสดงความนับถือ


นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เปิดเผยหลังการประชุมว่า บริษัทฯชี้แจงว่าประสบปัญหาขาดทุน ติดต่อกันมารวม 6-7 ปีแล้ว ก็จะปิดกิจการทั้งหมด หรือเลิกกิจการ ไม่เหลือกิจกรรมอะไร ซึ่งมีพนักงาน-ลูกจ้างอยู่รวม 280 คน ทั้งรายวันรายเดือนก็จะต้องเลิกจ้าง รวมทั้งลูกจ้างตามฤดูกาลอีกกว่า 1,000 คน ก็จะไม่มีการจ้าง โดยวันนี้ได้ประกาศหยุดกิจการ เขาก็ประกาศหยุดงานตั้งแต่วันนี้-2 ก.ค.64 แบบยังมีค่าจ้าง แต่ยังมีแรงงานที่สมัครใจ เข้ามาช่วยเก็บงาน ซึ่งก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มให้ ถือว่ามาทำงานในวันหยุด
“การเลิกจ้างจะเริ่มวันที่ 3 ก.ค.64 แบ่งเป็นการสมัครใจลาออก จะได้รับการชดเชย 3 ส่วน คือ เงินชดเชยตามกฎหมาย , เงินช่วยเหลือพิเศษ และเงินช่วยเหลือจากการลาออก คนที่สมัครใจลาออกให้ยื่นเรื่องวันนี้-12 มิ.ย.นี้ เมื่อเลยวันที่ 3 ก.ค.64 ถือว่าสิ้นสุดการเป็นพนักงาน หากไม่สมัครใจลาออก ก็จะดำเนินการเลิกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจะจ่ายชดเชยเฉพาะตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันมาก อาทิ ผู้มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ตามกฎหมายจะได้ชดเชย 400 วัน เขาจะบวกเพิ่มเงินช่วยพิเศษอีก 120 วัน และเงินช่วยเหลือการลาออก 90 วัน รวมแล้ว 610 วัน เขาเรียกโครงการนี้ว่า มาราอิ “จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่ ”


สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี กล่าวต่อว่า วันนี้สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปให้คำปรึกษา แก่พนักงาน-ลูกจ้างที่จะตัดสินใจ พรุ่งนี้ถึงวันที่ 12 มิ.ย.นี้ 5 หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานก็จะไปทั้งหมด คอยช่วยเหลือพนักงาน-ลูกจ้างที่ยังมีข้อสงสัย , ขึ้นทะเบียนคนว่างงาน , พัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งนี้พนักงาน-ลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ยังจะได้รับเงินจากประกันการว่างงาน หากลาออกจะได้รับ 45 % 90 วัน หากถูกเลิกจ้างได้ 70 % 200 วัน ทำให้บริษัทฯเพิ่มเงินช่วยในส่วนนี้ เขาบอกว่าหากดำเนินกิจการต่อ อาจจะไม่มีเงินเดือนจ่าย ผลกำไรที่เคยได้รับไป ยังพอนำมาชดเชยให้ทุกคนได้


นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี ตอบข้อซักถามว่า ชาวไร่อ้อยที่มีสัญญากับ รง.น้ำตาลกุมภวาปี จะโอนสัญญาไปที่ รง.น้ำตาลเกษตรผล ซึ่งเป็นโรงงานในกลุ่มเดียวกัน แต่จะไม่มีการโอนพนักงาน-ลูกจ้าง เพราะตำแหน่งงานมีไม่มาก ก็สามารถไปสมัครได้เท่านั้น ส่วนแรงงานตามฤดูกาล ช่วงฤดูหีบอ้อยราว 1,000 คน ไม่มีระเบียบกฎหมายกำหนด แต่ทางจังหวัดได้สั่งการสำรวจข้อมูลไว้ด้วย ขณะที่ปัญหาของพนักงาน-ลูกจ้าง เป็นห่วงคือ “สหกรณ์” จังหวัดได้ให้สหกรณ์จังหวัดมาช่วย


นายไพรวัลย์ ฤทธิมหา ประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และนายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธานฯ ร่วมกันเปิดเผยว่า โรงงานฯชี้แจ้งการปิดกิจการว่า ผู้ถือหุ้นบอกทำต่อไปไม่ไหว การประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนโยบายและพิจารณาแล้วว่า ให้ปิดกิจการโรงงาน ปีนี้จะไม่มีการหีบอ้อย และสาเหตุเพราะจากการขาดทุนสะสม ซึ่งทางโรงงานไม่ได้ชี้แจ้งว่าจะให้ไปอยู่ยังไงต่อ แต่แจ้งว่าทางโรงงานพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชย ให้กับพนักงานทุกคนมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยในโครงการนี้ชื่อว่า “จากกันด้วยดี” โรงงานได้ให้เราตัดสินใจก่อนวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับข้อเสนอ


ประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี กล่าวต่อว่า จะร่วมโครงการนี้กับโรงงาน เพราะคงไม่มีทางเลือกกว่านี้ โดยโรงงานให้หยุดพักร้อนพิเศษ ไม่ต้องไปทำงานตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 ก.ค.นี้ จากนั้นก็จะพ้นสภาพพนักงาน ซึ่งพนักงานทุกคนคงจะไม่คัดค้าน เพราะเป็นนโยบายผู้ถือหุ้น ถึงคัดค้านไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตนพอที่จะรู้มาก่อนว่าโรงงานจะปิดกิจการ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะเร็วขนาดนี้ หลังจากนี้พนักงานทุกคนก็คงจะเริ่มต้นหางานใหม่ทำ พนักงานคนไหนมีที่ดินก็คงจะทำกันไปก่อน และดูสถานการณ์ตั้งหลัก 1-2 เดือนก่อน แล้วใครมีโอกาสไปทางไหนก็ค่อยไป

“ความรู้สึกของผมตอนนี้ก็เสียใจ เพราะด้วยที่ผูกพันกับโรงงานมานาน ทำงานมา 24 ปี เรียนจบตอนปี 40 ฟองสบู่แตก ก็ได้มาทำงานที่นี่ เติบโตจากที่นี่ ซึ่งมาเจอเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ ค่อนข้างที่จะสะเทือนใจพอสมควร เพราะที่โรงงานนั้นก็เหมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ที่โรงงานเกือบทั้งหมด ตนนั้นก็ต้องดูแลหลายสายงาน รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ”


นายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี เปิดเผยว่า มันก็ยังเป็นเรื่องงงอยู่ และก็ตกใจอยู่เหมือนกัน ในเมื่อสภาวะมันเกิดขึ้นแบบนี้ ทางโรงงานนั้นไปต่อไม่ได้ ตนก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้าถามว่าตนเสียใจไหม ตอบเลยว่าเสียใจจริง ๆ เพราะว่าตนนั้นอยู่ที่นี่มานานมาก มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2525 โรงงานนี้ให้ตนมาตลอด ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ แล้วมีครอบครัวไปหมดแล้ว ก็ได้จากโรงงานที่นี่ ตนสงสารพนักงานในโรงงานบางคน ลูกก็ยังเรียนหนังสืออยู่ ก็ต้องได้มาตั้งเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ ตนนั้นมาจาก จ.กระบี่ และก็มาอยู่ที่นี่ 39 ปี และอีก 5 เดือนตนก็จะเกษียณแล้ว ตนนั้นมีความผูกพักกับโรงงานมากที่สุด น้ำตาคลอ