เพลิงไหม้ “แทรมน้อย” รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ที่อยู่ระหว่างการทดสอบ ระบบภายในบริษัทเอกชนผู้รับจ้าง คาดสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ พบความเสียหายกว่า 70% มูลค่ากว่า 84 ล้านบาท
1 ก.ค. 67 ที่ห้องประชุมไพศาล หลีร์ละเมียร อาคาร 50 ปี เทคนิคไทย – เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น พร้อมด้วย อาจารย์บุญกิจ อุ่นพิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น หรือ “แทรมน้อย” ภายในบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) บ้านโนนตุ่น ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น เหตุเกิดในเวลาประมาณ 23.30 ของวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า รถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบขอนแก่น ถูกไฟไหม้ได้รับความเสียหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่า รถไฟฟ้ารางเบา เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แผนพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุกด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งข้นของประเทศ ซึ่งได้โครงการออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) งบประมาณ 90 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 1 ปี (พ.ศ.2565-2566) งบประมาณ 33 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 123 ล้านบาท ซึ่งก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ตัวรถฟฟ้ารางเบาต้นแบบอยู่ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ 2 โดยได้ทำการว่าจ้าง บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ในการประกอบติดตั้งชิ้นส่วนต่าง ๆ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานด้านอุตสาหกรรม ก่อนเกิดเหตุอยู่ในช่วงของการทดสอบระบบการทำงานของตัวรถ ยังไม่ได้มีการส่งมอบให้กับคณะนักวิจัยฯ ในเบื้องต้น คาดว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรระบบควบคุมการจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ แต่ยังต้องรอผลยืนยันการตรวจพิสูจน์หลักฐานในสถานที่เกิดเหตุจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน4 เพื่อยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้อีกครั้ง คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประมาณ 1 เดือน และจากการประเมินความเสียหาย ในเบื้องต้น พบว่า เกิดขึ้นกับตู้โดยสารภายนอกและภายใน รวมทั้งระบบขับเคลื่อน คิดเป็นความเสียหายประมาณ 70% มูลค่า 84 ล้านบาท
ด้าน อาจารย์ ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา กล่าวว่า ในการจะนำชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใด ๆ ไปใช้เป็นส่วนประกอบของรถไฟฟ้ารางเบา คณะนักวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จะร่วมกันออกแบบกับฝ่ายวิศวกรรมของ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ก่อนจะทำการผลิตชิ้นส่วนจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด โดยจะผลิตชิ้นส่วนจากผู้ผลิตที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน เราจึงมั่นใจชิ้นส่วนที่ผลิตมาได้มาตรฐานตามหลักข้อกำหนดที่ออกแบบมา ซึ่งได้มีการทดลองระบบเมื่อประมาณ 2 ปี ก่อน ด้วยการทดลองเดินรถไฟฟ้ารางเบาแบบ 2 ตู้โดยสาร ภายในหมาวิทยาลัยฯ ในขบวนรถไฟฟ้ารางเบา จะมีชุดแบตเตอรี่อยู่ 2 ชุด ชุดที่ 1 สำหรับระบบควบคุม มีขนาดแรงดัน DC 24 โวลต์ ชุดที่ 2 เป็นแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อน มีขนาดแรงดันประมาณ 695 โวลต์ พิกัดกำลังประมาณ 346 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งแบตเตอรี่ในชุดที่ 2 จะจ่ายไฟออกมาในกรณีที่มีการสั่งการจากห้องควบคุมผ่านระบบทัชสกรีน แต่ในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น พบว่า เมนคีย์สวิชต์ อยู่ในตำแหน่ง off หรือ ปิด ซึ่งจะไม่มีไฟจ่ายออกมาที่ระบบ ซึ่งแบตเตอรี่ขนาดแรงดัน DC 24 โวลต์ ที่เป็นข้อสงสัยของเราว่าอาจจะเป็นสาเหตุ โดยสันนิษฐาน แบตเตอรี่ชุดนี้ที่ส่งไฟมาที่ตู้โดยสารที่ 1 ที่เป็นต้นเพลิงได้เกิดการลัดวงจรของไฟฟ้า อย่างไรก็ตามในช่วงกลางวันของวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนเองได้เข้าไปตรวจสอบดูความเรียบร้อยของตัวรถไฟฟ้าที่ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) โดยมีการเปิดแอร์ปกติภายในตู้โดยสาร โดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายภายนอกตัวรถ ผ่านทางเมนเบรคเกอร์ภายในรถ หลังจากตรวจสอบเสร็จก็มีการปิดระบบทุกอย่างตามขั้นตอน จึงมั่นใจว่า สาเหตุไฟไหม้ไม่น่าจะมาจากการลัดวงจรของชุดที่ 2 เป็นแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อน มีขนาดแรงดันประมาณ 695 โวลต์