สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ส่งผลทำให้ผักกุยช่ายในแปลงปลูกของเกษตรกรที่ จ.ขอนแก่น ใบลวกและเกิดหนอนแมลงในดินกัดกินรากและลำต้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ เกษตรกรเผยในอดีตเคยเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่ยังเพาะปลูกเพียงไม่กี่ราย
วันที่ 28 มีนาคม 2567 นางสำรวย ชินคำ อายุ 66 ปี เกษตรกรผู้เพาะปลูกกุยช่ายขาว บ้านนาเพียง หมู่ 4 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ต้องเร่งตัดใบของต้นกุยช่ายที่เพาะปลูกไว้ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ออกจากส่วนกอของลำต้น ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว เพื่อเตรียมไว้สำหรับนำเอากระถางดินมาครอบส่วนกอขอต้นกุยช่าย เพื่อทำเป็นกุยช่ายขาวไว้ตัดขายในอีก 12 วันข้างหน้า หลังจากที่ต้นกุยช่ายที่ปลูกไว้กำลังประสบปัญหาใบลวก และมีศรัตรูพืช เช่น แมลงและหนอนกัดกินรากใต้ดิน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา
นางสำรวย กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน แปลงปลูกกุยช่ายของตนเองก็เริ่มประสบปัญหา เช่น ใบกุยช่ายเหี่ยวเฉาและใบลวก ขณะที่ลำต้นก็มีจนาดลีบเล็กไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน บางกอที่ปลูกไว้ก็ถูกหนอนกัดกิน ทำให้ต้องคอยกำจัดหนอนและแมลงทุกวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้เป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้าหนี้เคยตัดกุยช่ายขาวขายได้เดือนละเกือบ 100 กิโลกรัม ปัจจุบันตัดได้ขายได้เพียง 30 – 40 กิโลกรัม ขณะที่ราคาจำหน่าย เดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาท ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท เท่านั้น ซึ่งราคาที่ตกต่ำแบบนี้ก็ทำให้เกษตรกรที่เคยเพาะปลูกกุยช่ายขาย เปลี่ยนไปไปเพาะปลูกพืชนิดอื่นแทน ทำให้ปัจจุบันเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกกุยช่ายเพียงไม่กี่รายเท่านั้น