รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควง ส.ส.เอกราช ช่างเหลา นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพื้นที่ประสบภัยกว่า 13,600 ไร่ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 500 ครัวเรือน ส่วนกรณีการแบ่งงานในกระทรวง ตอบชัด “ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาใหญ่คือชาวบ้าน”
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 กันยายน 2566 ที่โรงเรียนบ้านคำบง ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยได้นำหญ้าเสบียงอาหารสัตว์พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 7,000 กก. ถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 47 ถุง รวมทั้งถุงยังชีพและข้าวสารจากกกรมชลประทาน มอบให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อใช้ในการดำรงชีพและเลี้ยงสัตว์ โดยมีนายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายยุทธนา กองถวิล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น นายประภาส ภินโยชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต4 พรรคภูมิใจไทย และประชาชนกว่า 300 คน ให้การต้อนรับ
สำหรับพื้นที่บ้านคำบง ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพลร่องมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 16-17 ก.ย.2566 ที่ผ่าน เฉพาะพื้นที่ ต.สะอาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบ ประมาณ 13,600 ไร่ จำนวน 500 ครัวเรือน ชนิดของพืชที่ได้รับผลกระทบ เป็นนาข้าว 13,600 ไร่ รับน้ำจากห้วยเสือเต้น (เขาสวนกวาง) ไหลลงสู่หนองหารจาง ( แก่งเสือเต้น ) ก่อนไหลลงน้ำพองเหนือเขื่อนหนองหวาย น้ำท่วมที่นาเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันน้ำลดลงประมาณ 30 ซม. คงเหลือน้ำท่วมสูงประมาณ 60-70 ซม. นอกจากนี้พื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำชี แม่น้ำเชิญ และลำห้วยเสือเต้น ยังได้รับผลกระทบ มีน้ำท่วมในพื้นที่ อำเภอภูผาม่าน อำเภอเมือง อำเภอน้ำพอง และอำเภอเขาสวนกวาง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการนั่งเฮลิคอปเตอร์จากสนามบินขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น มาที่อำเภอน้ำพอง ประกอบกับการรายงานข้อมูลของหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้ได้ทราบถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งได้รับฟังความทุกร้อจากชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมของปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแต่ละปี โดยเบื้องต้นได้สั่งการในการช่วยเหลือประชาชนใน 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้กรมชลประทานศึกษาแนวทางการสร้างฝายชะลอน้ำในลำห้วยสาขาต่าง ๆ เพื่อใช้ในการชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง หากกการศึกษาสำรวจแล้วเสร็จให้เร่งบรรจุเข้าแผนงบประมาณทันที 2.ได้สั่งการให้ดำเนินการในการขุดลอกแก่งน้ำต้อน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อกักเก็บน้ำไว้อุปโภค บริโภคซึ่งปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน และ 3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประกาศให้พื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านตามระเบียบทางราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในระหว่างที่ ร.อ.ธรรมนัส กำลังจะขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ร้อยเอ็ด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีที่นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ได้ท้วงติงว่าการแบ่งงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ตอบคำถามเพียงสั้น ๆ ว่า เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาใหญ่คือชาวบ้าน ก่อนจะเดินขึ้นรถตู้ เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.ร้อยเอ็ด ตามภารกิจที่วางไว้
